สำนักงานพื้นที่พิเศษ ๓ ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งดูแลการดำเนินงานของ อพท. ในพื้นที่ภาคตะวันออก พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พัทยาและบริเวณใกล้เคียง ส่วนหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวด้วยการใช้จักรยาน และได้ติดต่อสถาบันการเดินและการจักรยานไทยไปร่วมงานด้วย โดยเริ่มทำ “โครงการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยวชุมชนนาเกลือ เมืองพัทยา” กันมาตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๑ ตามที่สถาบันฯได้รายงานข่าวไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายนถึงอาทิตย์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑อพท.ได้จัดกิจกรรม
“ขึ้นรถไฟไปปั่นเที่ยว ใกล้นิดเดียวพัทยา”
ขึ้น เชิญผู้ใช้จักรยานราว ๔๐ คน รวมกับทีมงานโครงการนาเกลือและกรรมการของสถาบันฯ กับสื่อมวลชน ไปทดสอบแนวคิดที่จะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวขึ้นรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปลงในพื้นที่และเที่ยวต่อด้วยจักรยานในทางปฏิบัติ โดยในเช้าตรู่ของวันที่ ๓๐ อพท.จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมขึ้นรถไฟสายตะวันออกที่สถานีคลองตันไปลงที่สถานีญาณสังวรารามในเขตจังหวัดชลบุรี จากนั้นก็ขี่จักรยานเป็นขบวนกันไปวัดเขาชีจรรย์ที่มีพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาหินในลักษณะพระพุทธฉายที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต่อด้วยโครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ฟื้นฟูเขาหัวโล้นกลับมาเป็นป่าเขียวขจีและมีทางจักรยานโดยรอบ กินอาหารกลางวันกันที่นั่น แล้วขี่ไปอเนกกุศลศาลา หรือวิหารเซียน (พัทยา) หนึ่งในสิบพิพิธภัณฑ์ที่ Trip Advisor เว็บไซต์ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลกแนะนำให้ไปเที่ยวชมในไทย ต่อไปแวะที่สวนคุณหญิงไฮโดรโปนิกฟาร์มที่ปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน ไปปิดท้ายที่ชากแง้ว ชุมชนชาวจีนอายุกว่าร้อยปีที่ยังรักษาย่านตลาดส่วนหนึ่งในสภาพเก่าๆ ไว้ได้ และมีการปิดถนนเป็นถนนคนเดินรับนักท่องเที่ยวในช่วงเย็นวันเสาร์ จากที่นั่นเรานั่งรถไปกินอาหารค่ำและพักที่โรงแรมในย่านนาเกลือ ส่วนในวันอาทิตย์ เราขี่จักรยานจากย่านนาเกลือไปเมืองพัทยา ขี่เลียบชายทะเลไปสุดที่แหลมบาลีฮาย จากนั้นก็ขี่กลับมานาเกลือ ทำกิจกรรมไปเช็คอินตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ด้วยการใช้ App ที่ทาง อพท.จัดทำขึ้น พร้อมกับตามหาและบันทึกภาพ Street Art คือภาพวาดบนกำแพงฝาผนังมาให้มากที่สุด จากนั้นนั่งรถไปศูนย์คณะพระมหาไถ่ พัทยา ซึ่งนอกจากมีมูลนิธิสงเคราะห์เด็ก โรงเรียนสอนคนตาบอด โรงเรียนอาชีวะ โรงแรม และที่น่าสนใจที่สุดคือโบสถ์คริสตศาสนาที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ศาสนาพุทธของไทย เป็นอันสิ้นสุดกิจกรรม และขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ ในช่วงบ่าย
จากการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ทำให้พบว่า พื้นที่บริเวณพัทยามีศักยภาพสูงที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว
ด้วยการนั่งรถไฟไปแล้วใช้จักรยานท่องเที่ยวต่อ เนื่องจากมีจุดท่องเที่ยวหลายแห่งอยู่ไม่ไกลจากกัน สามารถขี่จักรยานไปถึงได้ง่าย เส้นทางเป็นถนนสายรองที่ส่งเสริมเป็นพิเศษให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวอยู่แล้ว มีรถไม่มาก มีป้ายบอกทางติดไว้แล้วเป็นส่วนใหญ่ บางช่วงมีจัดแบ่งพื้นที่ถนนออกมาเป็นทางจักรยานเฉพาะ App ที่ อพท.พัฒนาขึ้นก็มีประโยชน์ ช่วยได้มาก ยกเว้นบางพื้นที่ที่สัญญาณโทรศัพท์บางเครือข่ายยังครอบคลุมไม่ถึง จึงควรเพิ่มป้ายและแผนที่ให้มากขึ้น รวมทั้งการใช้ QR Code ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวได้ตรงจุดนั้น เพื่อเอื้อให้ใช้จักรยานไปเที่ยวโดยอิสระได้เอง (วันที่ไปมีการจัดมัคคุเทศก์หรือวิทยากรมาบรรยายให้เป็นพิเศษ ซึ่งทั่วไปจะไม่มี) สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคใหญ่คือ ในช่วงสุดสัปดาห์ การรถไฟใช้รถ Splinter ในเส้นทางนี้ ซึ่งข้อดีคือลดเวลาเดินทางลงมากจากรถไฟขบวนธรรมดาในวันอื่นที่ใช้เวลาเดินทางถึงสี่ชั่วโมงมาเหลือเพียงสองชั่วโมงกว่า สามารถเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับได้ แต่รถ Splinter ไม่อนุญาตให้เอาจักรยานขึ้น กิจกรรมในวันนั้น อพท.ใช้รถกระบะตู้ขนจักรยานไปพัทยาต่างหากและให้ใช้แต่จักรยานพับเท่านั้น อพท.ควรหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้แก้ไขปรับปรุงตู้โดยสารให้สามารถขนส่งจักรยานไปได้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยรถไฟควบคู่กับจักรยานจึงจะเป็นผล
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย