สำหรับประเทศไทย “วันจักรยานโลก” อาจจะถือเป็นสิ่งใหม่ ไม่คุ้นเคยนัก ขณะที่ในระดับสากลนั้น การประกาศขององค์การสหประชาชาติให้วันที่ 3 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันจักรยานโลก หรือ Bicycle Day นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง
เหตุผลที่ควรตื่นเต้นกับเรื่องนี้ ก็เพราะว่า ก่อนที่จะมีมติจากการประชุมครังที่ 72 ของสมัชชาแห่งสหประชาชาติที่นิวยอร์กนั้น สมาชิกสมัชชาได้ผ่านการประชุม นำเสนอ ถกเถียงกันมานับเป็นเวลานานหลายปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา ถึง
ความสำคัญของการ “ใช้จักรยาน” ที่ควรถูกผลักดันให้เป็นวาระระดับโลก
มีขั้นตอนการร่างมติ และรอการสนับสนุนถึง 193 รัฐสมาชิก จาก 56 ประเทศ เพื่อให้สภาประกาศใช้มติดังกล่าว โดยได้รับความเห็นร่วมจากองค์กรใหญ่ระดับโลก ได้แก่ สหพันธ์จักรยานโลก (WCA) , European Cyclists ‘Federation (ECF) ซึ่งหนุนให้สหประชาชาติกำหนดวันจักรยานมาโดยตลอด
ในวันที่ 12 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา นับเป็นความสำเร็จของการรณรงค์ เมื่อองค์การสหประชาชาติประกาศอย่างเป็นทางการที่จะเชิญประเทศสมาชิกทั้งหมด รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศด้านกีฬา ด้านประชาสังคม ภาคอุตสาหกรรม และอื่นๆ ให้ร่วมกันเฉลิมฉลองถึง
“วันส่งเสริมความตระหนักในการใช้จักรยาน” ซึ่งคือหัวใจสำคัญของวันจักรยานโลกนี้
นัยยะที่สำคัญของการเฉลิมฉลองนี้ หมายความว่า ทุกประเทศสมาชิก จะร่วมกันกำหนดนโยบายประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของวันจักรยาน ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญใหญ่ๆ อยู่ 5 หัวข้อด้วยกัน ได้แก่
- สนับสนุนให้ประเทศสมาชิก กำหนดกลยุทธ์การพัฒนา ให้ความสำคัญกับจักรยานเป็นพิเศษ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
- ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิก ปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน การจราจร พื้นที่สัญจรของผู้ใช้จักรยานให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- สนับสนุนให้ประเทศสมาชิก วางแผน ออกแบบ โครงสร้างพื้นฐาน ในการย้าย ขนส่ง อยางยั่งยืน สำหรับจักรยานและคนเดินเท้าอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่กว้างขึ้น
- ประเทศสมาชิก ส่งเสริมให้เพิ่มการใช้จักรยานในประเทศ เพื่อช่วยพัฒนาด้านสุขภาพ สร้างความเข้มแข็ง การเข้าถึงข้อมูล แก่ประชากร รวมถึงเด็กและเยาวชนมากขึ้น
- ส่งเสริมให้สมาชิกยอมรับแนวทางที่ดีที่สุด ในการส่งเสริมกลุ่มผู้ใช้จักรยาน และพัฒนาเป็นวัฒนธรรมการปั่นในสังคมให้มากขึ้น
ผลกระทบสำคัญของการใช้จักรยานในโลก
จากคำปราศัยของ ดร.เลสเช็ค เจ สิบิลสกี้ ซึ่งกล่าวต่อที่ประชุมองค์การสหประชาชาติว่า การใช้จักรยานจะสร้างผลกระทบที่มากมายอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งเป็นที่มาของคำเรียกจักรยานอีกชื่อว่า “เครื่องจักรอิสรภาพ” ซึ่งหมายถึงจักรยานได้ปลดปล่อยให้ผู้หญิง เด็ก ผู้ด้อยโอกาส ได้มีอิสระภาพส่วนตัวมากขึ้นในการออกไปขี่จักรยานบนถนน
ดร.เลสเช็ค ให้ความเห็นว่า จักรยานเป็นอุปกรณ์สองล้อที่เรียบง่าย แต่ให้มนุษย์พึ่งพามากว่าสองศตวรรษ สิ่งง่ายๆ นี้ดีต่อสิ่งแวดล้อมในการขนส่ง ดีต่อสภาพแวดล้อม ดีต่อสุขภาพ ให้ผู้ใช้เกิดความสร้างสรรค์ เกิดการเข้าร่วมทางสังคม ทำให้คนขี่ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น จักรยานคันหนึ่งจึงมีความหมายไม่ใช่แค่การขนส่ง แต่เป็นการจ้างงาน และเข้าถึงการศึกษาและดูแลสุขภาพด้วย
การขี่จักรยาน 1 กิโลเมตร ช่วยลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์
ได้ถึง 250 กรัม ต่อ 1 กิโลเมตร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ราว 2 gigatonnes (หน่วยวัดคาร์บอน) ตันต่อปี ลดมลพิษทางอากาศ ลดมลพิษทางเสียง ประหยัดเชื้อเพลง ให้ประโยชน์ดีต่อสุขภาพจิต สร้างเวลาคุณภาพ สร้างสวัสดิการที่ดีกับเด็กและพื้นที่ปลอดภัยสาธารณะ ให้ความเท่าเทียมกันทางสังคม ให้ความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ ประหยัดการบำรุงรักษาพื้นฐานถนน และยังเชื่อมโยงคนให้มาหากันอย่างยืดหยุ่นและแข็งแรง
จักรยานจึงเป็นความหวังในการดูแลรักษาโลก ขับเคลื่อนมนุษยชาติ จากความทุกข์ ความยากจน ไปสู่ความรุ่งเรืองและสันติภาพได้ด้วย
ภาพรวมและกิจกรรมสากลวันจักรยานโลก
ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทั่วโลก ได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมมากมายเนื่องในวันจักรยานโลก 3 มิถุนายน 2561 และเชิญชวนให้พร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #WorldBicycleDay ในทุกกิจกรรมที่แชร์ไว้ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค
ประเทศอังกฤษ
– จัดสัปดาห์แห่งการปั่น ตั้งแต่ 9-17 มิถุนายน 2518 โดยสนับสนุนเด็ก เยาวชน ครอบครัว ออกปั่นชมทุ่งหญ้าในไททั่น,
– จัด Bewdley Bike Week ในวันที่ 29 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2561 เพื่อกระตุ้นให้คนสนุกกับการปั่นจักรยาน มีการสาธิตการสอนขี่ฟรี และบริการบาร์บีคิวในสวน
– ในเมืองWestfield Stratford City ลอนดอน จัดกิจกรรมตรวจ บำรุงรักษาจักรยานฟรี สำหรับเด็ก และกิจกรรมแข่งขัน จับรางวัลสนุกๆ บนถนน Chestnut Plaza
– บนถนน Omdurman Road Southampton จัดขบวนแห่รอบเมือง และมีกิจกรรมขี่จักรยานเปลือย เพื่อกระตุ้นความสนใจรณรงค์ใช้จักรยาน ในวันที่ 1-2 มิถุนายน 2561
– กิจกรรมระดมทุน Family Cycling Treasure จากนักปั่นทุกวัย เพื่อบริจาคไปยังโรงพยาบาลเซ็นต์มาการ์เร็ต ของอังกฤษ
– ขบวนจักรยานผู้หญิง ซึ่งมีการปรับแบบจักรยานให้เข้ากับการขี่ขี่ของผู้หญิงให้ปลอดภัย สบายขึ้น โดยเริ่มที่ถนน Northampton ผ่าน Wolverton, Silverstone, Sulgrave, Woodford Halse, Daventry, Weedon Bec และกลับไป Northampton และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย (http://bikeweek.org.uk/events/)
ประเทศสหรัฐอเมริกา
– กิจกรรมสัปดาห์ใช้จักรยานไปทำงาน Bike to Work Week ตั้งแต่ 14-18 พ.ค. 2561 กระตุ้นให้คนทุกเมืองในสหรัฐใช้จักรยานไปทำงาน
– ชาวอเมริกันในเขตชุมชนเมืองจาก 51 เมือง รวม 43 พื้นที่ จัดงานโปรโมตใช้จักรยานในการไปทำงาน เพื่อเป็นการสัญจรครั้งแรกจนกลายเป็นการใช้งานประจำ
– ศูนย์ความปลอดภัยแห่งชาติ ในโรงเรียน จัดกิจกรรมวันจักรยานแห่งชาติ รณรงค์การใช้จักรยานไปเรียนหนังสือ
– กลุ่ม CycloFemme หรือกลุ่มสตรีก้าวหน้า รวมตัวทำกิจกรรมขี่จักรยาน เพื่อสะท้อนความสามารถในการขี่จักรยานของผู้หญิงในอนาคต
– กลุ่มจักรยานอเมริกัน จัดกิจกรรมเดือนแห่งจักรยาน ตลอดทั้งเดือน มิถุนายน 2561 โดยแจกแผนที่ขี่จักรในเมืองไปทั่ว และเปิดให้ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ชมรม (bikeleague.org)
– กรุงวอชิงตัน ดีซี. จัดการประชุมนานาชาติ จักรยานแห่งชาติ ครั้งที่ 19 ( National Bike Summit ) ตั้งแต่ 5-7 มีนาคม 2561 สำหรับสนับสนุนจักรยานที่เพิ่มความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงงานทั้องถิ่น ภูมิภาค และระดับชาติ และเชิญชวนร่วมกิจกรรมแข่งขันจักรยานออนไลน์ทางเว็บไซต์ที่สนุกสนาน http://(www.lovetoride.net/usa)
ประเทศไทยในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก ก็มีกิจกรรมวันจักรยานโลก: WBD มีด้วยกัน 2 กิจกรรมหลัก ดังนี้
- การเสวนา “จักรยาน: โลกไปถึงไหน ไทยทำอะไร” วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2561 เวลา 08.00-12.00 น. ณ.ห้องประชุม Auditorium ชั้น 1 อาคาร Bangkok Tower ถ.เพชรบุรีตัดใหม่
- กิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์บนท้องถนน วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2561 เวลา 06.00-10.00 น. จุดเริ่มต้นศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร – ตึก UN
จดหมายเปิดผนึกเนื่องในโอกาส “ปฐมกาล วันจักรยานโลก” ขององค์การสหประชาชาติวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2561
สืบเนื่องจากการที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันจักรยานโลก โดยมีวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2561 นี้ เป็นวันจักรยานโลกครั้งแรก
พวกเราชาวเครือข่ายผู้ใช้จักรยานในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยเกือบ 40 ชุมชมและชมรมจักรยาน อันมีรายชื่อดังเอกสารแนบท้าย ขอประกาศแสดงจุดยืนและความประสงค์ ดังต่อไปนี้
- เราเชื่ออย่างสนิทใจร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ว่าการจักรยานสามารถช่วยลดหรือแม้กระทั่งขจัดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน คมนาคม สุขภาพ และสังคมอย่างบูรณาการ ไปพร้อมกัน
- เราขอขอบคุณ และสนับสนุนองค์การสหประชาชาติ ในการประกาศให้มีวันจักรยานโลก เช่นวันนี้อย่างเต็มที่
- เราเชื่ออย่างสนิทใจเช่นกันว่าจักรยาน ในยุคปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพียงยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์และมีล้ออย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นเครื่องมือในการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน
- เนื่องจากการจักรยานสามารถตอบโจทย์ของเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ ได้ถึง 12 ข้อ ใน 17 ข้อ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน หรือ 3Ps (Public, Private, People) มีหน้าที่และพันธกิจที่ต้องเร่งร่วมมือกันในการทำให้การจักรยานเกิดขึ้นได้จริงในบริบทของสังคมนั้นๆ
- ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงควรต้องประกาศเจตนารมณ์ให้โลกรู้ว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนของโลกใบนี้อย่างแข็งขัน โดยการรับเอาระบบการจักรยานมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ
- ในส่วนของมาตรการระยะสั้นสำหรับประเทศไทยเป็นการจำเพาะนั้น เราขอเรียกร้องให้ภาครัฐซึ่งเป็นองค์กรที่สามารถอำนวยให้เกิดระบบการจักยานขึ้นได้จริงในสังคมไทยได้เร็วที่สุด ดำเนินการดังต่อไปนี้
- จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ให้แก่ผู้ใช้จักรยานทุกประเภท โดยมุ่งเน้นที่ผู้ใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันเป็นพิเศษ ในเขตเมือง เทศบาลและชุมชน
- สร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคม ว่าการใช้จักรยานนอกจากเป็นรูปแบบหนึ่งของการเดินทางแล้ว ภาครัฐยังควรต้องพัฒนาระบบจักรยานที่ถูกต้องและปฏิบัติได้จริงในบริบทของสังคมไทย ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ให้แก่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับภาค จังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน
- จัดให้มีหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบงานการจักรยานโดยตรง ในกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เพื่อการศึกษา วิจัย เก็บรวบรวมข้อมูล ไปจนถึงจัดให้มีระบบจักรยานและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย โดยเฉพาะกับคนพิการ
- กำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรและขนส่งอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานทุกประเภท
- ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการเชื่อมต่อระหว่างการใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งแบบมวลชนและปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ เรือ รถไฟ รถไฟไฟฟ้า (electric train) รถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ ตุ๊กตุ๊ก ฯลฯ โดยเฉพาะการใช้จักรยานเชื่อมต่อกับระบบรถไฟไฟฟ้าทั้งที่ต้นทางและปลายทางของการเดินทางของแต่ละบุคคล ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการก่อสร้างระบบรถไฟไฟฟ้าที่รัฐกำลังเร่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
- ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิด “ชุมชนจักรยาน” ที่ประชาชนในพื้นที่ของชุมชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง เฉกเช่นในบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก หรือญี่ปุ่น
- หลีกเลี่ยงการสร้างถนนขนาดใหญ่ ในเมือง เทศบาล และชุมชน เพื่อลดปัญหาทางสังคม และใช้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดนั้นมา สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางที่ไม่ใช้
เครื่องยนต์ โดยเฉพาะการเดินและการใช้จักรยาน - ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และ ประเทศไทยโดยรวมประกาศ ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2561เครือข่ายผู้ใช้จักรยานในประเทศไทย